ความรับผิดชอบต่อครอบครัว

หน้าที่ของครอบครัว ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นสถาบันแรก ที่สามารถหล่อหลอม และพัฒนาบุคคลต่างๆ ในครอบครัว ให้เป็นบุคคลอันพึงประสงค์ของสังคม ซึ่งมีหน้าที่คือ

  • หน้าที่สร้างสรรค์สมาชิก ครอบครัวมีหน้าที่สร้างสมาชิกใหม่ขึ้นทดแทนษมาชิกเดิมที่จากไป เพื่อสืบวงศ์ตระกูลต่อไป แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนความสมดุลกับสังคม ถ้ามากเกินไปก็จะทำให้เกดปัญหาสังคมตามมา
  • หน้าที่อบรมสั่งสอนระเบียบของสังคม ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่มีหน้าที่และบทบาทในการอบรมสั่งสอนที่สำคัญที่สุด โดยมุ่งเน้นให้รู้จักค่านิยมพื้นฐานทางวัฒนธรรม การพัฒนาบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และการปรับตัวเข้ากับสังคม
  • หน้าที่ให้ความรักและความอบอุ่น ครอบครัวเป็นแหล่งสำคัญในการให้ความรัก ความอบอุ่น และกำลังใจแก่สมาชิก เพื่อให้สามารถต่อสู้และมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตในสังคมได้
  • หน้าที่กำหนดสถานภาพ เมื่ออยู่ในครอบครัว สมาชิกทุกคนจะมีสถานภาพที่ถูกกำหนดขึ้นโดยกำเนิด เช่น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ และสถานะในครอบครัวรวมถึงในวงสังคม
  • หน้าที่ปกป้องคุ้มครองหรือเลี้ยงดูผู้เยาว์ ครอบครัวจะทำหน้าที่ดูแลปกป้อง และพัฒนาสมาชิกที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และให้การศึกษา
  • หน้าที่ทางเศรษฐกิจ สมาชิกในครอบครัวทุกคนถือเป็นหน่วยการผลิตที่สำคัญ ทุกคนจะต้องทำงานและแบ่งผลผลิต ซึ่งกันและกัน เช่น พ่อแม่จะทำมาหากินเพื่อเลี้ยงลูกในวันเด็ก แต่พอในวัยหนุ่มสาวลูกก็จะทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่
  • หน้าที่ทางการศึกษา ครอบครัวเป็นแหล่งการศึกษาแห่งแรกของสมาชิก แต่เมื่อถึงวัยต้องรับการศึกษาในโรงเรียน ครอบครัวก็มีหน้าที่ต้องส่งสมาชิกเข้าเล่าเรียนศึกษา โดยต้องให้การสนับสนุนในเรื่องการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ เพื่อที่สามารถจะประกอบอาชีพได้ในอนาคต
  • หน้าที่ทางศาสนา ครอบครัวต้องมีหน้าที่ในการปลูกฝังให้เลื่อมใสในศาสนาประจำชาติ และส่งเสริมให้ปฏิบัติตน ตามคำสั่งสอนของศาสนา เพื่อให้เป็นคนดีของสังคม

หน้าที่ของสามีและภรรยา ในสภาพสังคมปัจจุบัน สังคมและเศรษฐกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้ชายและผู้หญิง จึงล้วนมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้ผู้หญิงมีบทบาททัดเทียมกัน ดังนั้นสามีและภรรยาในยุคปัจจุบันจึงควรมีหน้าที่ๆสอดคล้องกับสถานการณ์คือ

  • ให้การยกย่องซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกันตามฐานะอย่างเหมาะสม ดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ดูหมิ่น เหยียดหยามทั้งวาจาและท่าทาง ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ให้คำแนะนำในการปรับปรุงตนเอง และร่วมกันแก้ไข ข้อบกพร่องซึ่งกันและกัน
  • ไม่ประพฤตินอกใจซึ่งกันและกัน ควรมีความซื่อสัตย์และคุณความดีของกันและกัน เพื่อรักษาครอบครัวให้มีความสุข และดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น
  • ช่วยกันในธุรกิจงานบ้าน ช่วยดูแลทรัพย์สมบัติและกิจการงานบ้าน ควรรับผิดชอบภารกิจที่ต้องใช้แรงงาน รวมถึงการช่วยดูแลบุตร
  • ให้กำลังใจโดยของขวัญหรือของรางวัล ให้ความสำคัญกับโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน หรือเทศกาลต่างๆ มีของฝากเมื่อเดินทางไปสถานที่อื่นๆ
  • ร่วมกันจัดการงานบ้านเรือนให้เรียบร้อย แบ่งภารกิจการงานบ้านให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีงานเท่าเทียมกัน รวมถึงสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้น่าอยู่
  • เอาใจใส่สงเคราะห์คนใกล้ชิด เอาใจใส่สารทุกข์สุกดิบของคนในครอบครัว รวมถึงญาติพี่น้อง ทั้งของฝ่ายตนเองและฝ่ายภรรยาให้สม่ำเสมอเท่าเทียมกัน
  • ช่วยกันรักษาสมบัติไว้ให้ดี รู้จักการใช้สอยเงินทองอย่างประหยัด ไม่ควรใช้จ่ายให้เกินฐานะ ไม่สร้างภาระหนี้สิน โดยไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงอบายมุขต่างๆ
  • ไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ควรมีความขยันขันแข็งในการทำงานทั้งภายนอกและภายในบ้าน เพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพื่อให้ฐานะครอบครัวมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร คู่สามีภรรยาที่มีความพร้อมและตัดสินใจมีลูกแล้ว จะต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่ ที่เกิดขึ้นตามมา โดยมีบทบาทใหม่ในการเป็นพ่อและแม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ๆสำคัญและมีความรับผิดชอบสูงอันได้แก่

  • การให้ความเจริญเติบโตทางด้านร่างกายและจิตใจ พ่อแม่มีหน้าที่ต้องให้ความเอาใส่ลูกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในด้านร่างกายเป็นความจำเป็นในอันดับแรกของชีวิต ในขณะที่ลูกยังช่วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่มีหน้าที่ต้องดูแลหาอาหาร เครื่องนุ่งห่มและดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย ในด้านจิตใจก็ได้แก่การให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแก่ลูก สร้างความรู้สึก ให้ลูกรู้สึกถึงการเจริญเติบโตด้วยความเป็นมิตร มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น เกิดความภูมิใจ กับสถานภาพของตนเองในครอบครัว
  • การอบรมสั่งสอน พ่อแม่มีหน้าที่ต้องปลูกฝัง ให้ลูกสามารถควบคุมตัวเองและปรับตัว ให้เข้ากับสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม ด้านการเข้าสังคม มารยาทสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้
  • การเอาใจใส่ พ่อแม่ต้องคอยเอาใจใส่ดูแลลูก เพื่อสังเกตและควบคุมพฤติกรรมของลูกให้ดำเนินไปได ้อย่างถูกครรลองคลองธรรม และเป็นที่ยอมรับของสังคม อันได้แก่ ด้านสุขภาพจิต เพราะเด็กบางคน อาจมีความผิดปกติด้านสภาพจิตใจ ด้านความผิดปกติทางเพศ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขบำบัดเพื่อแก้ปัญหา ด้านการใช้ยาเสพติด เด็กสมัยใหม่จะเข้าถึงได้ค่อนข้างง่ายจึงต้องใช้การสังเกตเพื่อป้องกันปัญหา ด้านการใช้เวลาว่าง พ่อแม่ควรต้องแนะนำให้เด็กได้ใช้เวลาว่างตามความถนัดตามความสนใจ ให้คำแนะนำและส่งเสริมการใช้เวลาว่าง ให้เกิดประโยชน์

หน้าที่ความรับผิดชอบของบุตรต่อบิดามารดา ในช่วงแรกของชีวิตบิดามารดามีหน้าที่ต้องดูแลบุตร แต่ในช่วงท้าย ของชีวิตแล้วบุตรก็มีหน้าที่ต้องดูแลบิดามารดาเป็นการตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ดังนั้น บุตรจึงมีหน้าที่ที่ควรปฏิบัติต่อบิดามารดาคือ

  • ความกตัญญู บุตรควรต้องดูแลเอาใจใส่บิดามารดาให้เหมือนกับที่บิดามารดาดูแลเอาใจใส่ตน ดูแลให้ดำเนินชีวิต อย่างมีความสุข หาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต ดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย
  • ช่วยเหลือกิจการงานหน้าที่ครอบครัวตามโอกาส บุตรควรต้องช่วยเหลือดูแลภารกิจในบ้านทั้งกิจการของครอบครัว งานอื่นๆที่นอกเหนือ เพื่อให้พ่อแม่ได้มีโอกาสผักผ่อนและเป็นการแบ่งเบาภาระ
  • ดำรงวงศ์ตระกูลของพ่อแม่ให้เจริญ สังคมไทยให้ความสำคัญกับการสืบทอดวงศ์ตระกูลและชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ดังนั้นบุตรควรต้องรักษาชื่อเสียงและประพฤติตนให้เหมาะสมตามขนบธรรมเนียมประเพณี
  • เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ สังคมไทยให้ความสำคัญเรื่องการรำลึกถึงบุญคุณบิดามารดา การทำบุญ อุทิศให้ก็ถือเป็นการนึกถึงและตอบแทนบุณคุณอีกทางหนึ่ง และเป็นการแสดงถึงความเคารพอยู่เสมอ

หน้าที่ความรับผิดชอบต่อเครือญาติ โครงสร้างสังคมไทยเรา ถือเป็นระบบสังคมเครือญาติ ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ทำให้เกิดความเหนียวแน่นและความสัมพันธ์ในเชิงสังคม เช่นความสัมพันธ์ในฐานะ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติมักจะเกิดขึ้นจากความเกี่ยวพันทางสายเลือดและความเกี่ยวพันจากการสมรส ซึ่งความเกี่ยวพัน ดังกล่าวทำให้เกิดเครือญาติและทำให้มีหน้าที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบกันคือ

  • หน้าที่ทางการเงิน ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี อาจถูกเป็นที่พึ่งหวังของครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจที่ที่ไม่ดี การให้การช่วยเหลือกัน เป็นบางโอกาสทางด้านการเงินจึงเป็นภารใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ควรให้การช่วยเหลือการตามสมควร โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อครอบครัวตนเอง
  • หน้าที่ปรับตัวให้เข้ากับแบบแผนครอบครัวเดิม ครอบครัวแต่ละครอบครัวย่อมมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน การที่คนต่างครอบครัวกันมาอยู่ร่วมกัน ย่อมมีความแตกต่างกันในกาปฏิบัติตัวในด้านต่างๆ ทั้งวัฒนธรรม ศาสนา ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเหลี่ยงปัญหาการอยู่ร่วมกัน จึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • หน้าที่การปรับตัวให้เข้ากับญาติ ด้วยความแตกต่างของพื้นฐานครอบครัวทำให้คนเราที่อยู่ร่วมกันต้องปรับตัวเข้าหากัน โดยเฉพาะคู่สมรสใหม่ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากันได้กับญาติของทั้ง 2 ฝ่ายจึงจะทำให้ชีวิตสมรสดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวพอสมควร เนื่องญาติพี่น้องจะมีจำนวนมาก และมีลักษณะนิสัยใจคอ ที่แตกต่างกันออกไป

 

: : คลิปแนะนำ : :
เพื่อความเข้าใจในบทเรียนและการใช้ชีวิต
     
 
ความรับผิดชอบต่อครอบครัว : หากทุก ๆ คนในครอบครัวมีความรับผิดชอบ ต่อบทบาทและหน้าที่ของตนเองในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวไหน ๆ ความสุขภายในครอบครัวย่อมเกิดขึ้น

 

<<< ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความรับผิดชอบต่อสังคม >>>

 

Free Web Hosting